ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา (ปี 2555) เราคงได้ยินเรื่องการประมูลเครือข่าย 3G กันมาอย่างหนาหู และตอนนี้หลายคนก็กำลังใจจดใจจ่อกับการที่จะได้ใช้งานบนเทคโนโลยี 3G บนโทรศัพท์หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นปี 2556 ที่จะถึงนี้ โดยสัญญาณ 3G ที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนั้นบางค่ายถือเป็นการทดลองบริการใช้งาน แต่สำหรับค่ายอย่าง Truemove-H นั้นเป็นการเปิดให้บริการจริงแล้วอย่างเต็มรูปแบบโดยใช้ 3G บนคลื่นความถี่ 850 MHz
และหากถ้าใครที่ได้ติดตามข่าวทางด้านเทคโนโลยีมาบ้าง ก็อาจจะได้ระบบอีกระบบที่เขาพูดกันว่ามันเร็วกว่า 3G เสียอีก และประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีการทดลองใช้กันแล้ว นั่นคือระบบที่เรียกว่า 4G
สำหรับบทความนี้ผมจะพูดถึงว่าเทคโนโลยี 4G นั้นคืออะไร และเมื่อเปรียบเทียบกับระบบตั้งแต่อดีตจนมาถึง 4G ว่ามีการพัฒนาหรือมีความต่างอย่างไรบ้างให้เห็นกันแบบชัดๆ ครับ
*ก่อนอื่นสำหรับใครที่สงสัยว่า G ที่เราเห็นต่อท้ายตัวเลขในเทคโนโลยีต่างๆ นั้น มันมาจากคำว่า Generation หรือยุค ซึ่งก็หมายความว่า 4G นั่นคือระบบโทรศัพท์ในยุคที่ 4 นั่นเอง
4G LTE คืออะไรนะ?
LTE นั้นย่อมาจาก Long-Term Evolution เป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายความเร็วสูงเพื่อใช้กับอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟน หรือเครื่องที่รองรับสัญญาณได้ โดยเทคโนโลยีนี้ออกมาเพื่อทลายข้อจำกัดความเร็วของเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ปัจจุบันอย่าง GSM/GPRS/EDGE หรือแม้กระทั่ง 3G ที่เราทดลองใช้งาน ให้มีประสิทธิภาพในและความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่มีความเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก โดยมีความเร็วการรับข้อมูลสูงสุดที่ 100Mbps
หลายคนคงงงว่า ทำไมถึงเอา LTE มารวมกับ 4G ด้วย อันที่จริงแล้วความหมายทางวิศวกรรมของ LTE นั้นไม่ใช่ 4G แต่อย่างใด แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง 3G และ 4G โดย LTE เป็นเทคโนโลยียุค 3.9G แต่เพื่อความเข้าใจที่ง่ายและเพื่อเป็นคำในการทำตลาด ดังนั้นจึงมีการเรียกแบบรวมๆ ว่าเป็น 4G LTE นั่นเอง
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีจาก 1G สู่ 4G LTE
เทคโนโลยีทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพื่อตอบสนองกับความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เทคโนโลยีการสื่อสารก็เช่นกันที่นับวันการย่อโลกทั้งโลกมาอยู่ในฝ่ามือของเราได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม กว่าที่จะมาถึงเทคโนโลยีการสื่้อสารไร้สายล่าสุดอย่าง 4G LTE ลองมาดูกันว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้เราใช้อะไรกันมาแล้วบ้าง (คาดว่าน่าจะเคยได้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อไม่มากก็น้อยนะครับ)
ยุค 1G โทรได้อย่างเดียว
หลายคนคงจำโทรศัพท์มือถือที่ต้องถือ(แบก)คล้ายกระเป๋าหรือกระติกน้ำขนาดใหญ่ได้ หรือแม้แต่กระบองอันใหญ่ๆ นั่นคือยุคเริ่มต้นการใช้โทรศัพท์ไร้สาย โดยการรับส่งสัญญาณจากเครื่องโทรศัพท์นั้นจะอยู่ในรูปแบบ Analog ที่สามารถส่งสัญญาณในรูปแบบเสียงได้อย่างเดียว นอกจากนั้นการรับส่งสัญญาณจะต้องส่งไปยังสถานีฐาน (Based-station) ซึ่งในยุคนั้นมีจำนวนน้อยและสัญญาณต้องแรงพอที่จะส่งไปยังเครื่องปลายทางได้ จึงเป็นสาเหตุให้รูปร่างของโทรศัพท์ในยุคนั้นมีขนาดใหญ่และหนาคล้ายวิทยุของทหารนั่นเอง
ยุค 2G, 2.5G และ 2.75G เข้าสู่ยุคดิจิตอล
สามยุคนี้เป็นช่วงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานพอสมควรและคนที่ใช้โทรศัพท์ในไทยมักจะคุ้นเคยที่สุด เพราะเป็นยุคที่มีการพัฒนาการติดต่อสื่อสารโดยใช้สัญญาณแบบดิจิตอลแทน ซึ่งทำให้สามารถส่งข้อมูลหรือ Data ได้เพิ่มขึ้น
โดยถ้าจะให้ไล่เรียงกันทั้งสามยุคนั่นก็คือ
- 2G คือการใช้ระบบ GSM สามารถโทรหากันข้ามเครือข่ายได้จากที่ไม่สามารถทำได้ในยุค 1G และเป็นยุคที่สามารถส่งข้อความ SMS หรือ Short Message Service ได้
- 2.5G เป็นการต่อยอดในการส่งข้อมูลให้ดีขึ้นด้วยบริการรับส่งข้อมูลที่เรียกว่า GPRS (General Packet Radio Service)
- สุดท้ายยุค 2.75G เป็นการพัฒนาการส่งสัญญาณให้ดีขึ้น, เร็วขึ้นและได้ปริมาณที่มากขึ้นซึ่งนั่นก็คือ EDGE (Enhanced Data rates for GSM Evolution)
โดยทั้งสามยุคนี้ คนหันมาใช้บริการข้อมูลกันเพิ่มมากขึ้นและเป็นยุคที่มีอุปกรณ์ออกมารองรับการใช้งานข้อมูลเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ยุค 3G ยุคแห่งการบริโภคข้อมูล
จะบอกว่าตอนนี้คนไทยอยู่ในยุคนี้ก็คงจะใช่หล่ะนะครับ เพราะส่วนใหญ่แล้วตอนนี้เราใช้โทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่เป็นสมาร์ทโฟนเกือบทั้งหมด หันมาใช้บริการข้อมูลมากการใช้บริการเสียงจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เสียอีก ซึ่งยุคแห่งการใช้ข้อมูลนี้ความเร็วจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเลยเกิดยุคของโทรศัพท์ยุคที่ 3 หรือ 3G ขึ้นมานั่นเอง โดยจะใช้เทคโนโลยีที่ชื่อว่า UTMS (Universal Mobile Telecommunications System) เป็นแกนหลัก
อันที่จริงแล้วยุค 3G ก็ไม่ต่างกับ 2G ที่มีอยู่ 3 ช่วงเหมือนกันนั่นคือ ในยุคแรกความเร็วในการรับข้อมูลสูงสุดจะอยู่ที่ 2 Mbps และต่อมาก็เริ่มมีการพัฒนาความเร็วจนปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคที่เป็น 3.5G และ 3.75G (ขึ้นอยู่กับพื้นที่) มีความเร็วในการรับข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ 21-42 Mbps โดยความเร็วนั้นจะขึ้นอยู่กับสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์รับสัญญาณและความหนาแน่นในการใช้งานของพื้นที่นั้นๆ ด้วย และสามารถสังเกตง่ายๆ ว่าตอนนี้เราใช้ระบบ 3G แบบใดบนโทรศัพท์ โดยดูที่สัญลักษณ์สัญญาณข้อมูลว่าเป็น 3G, H หรือ H+
ยุค 4G LTE ยุคแห่งการบริโภคข้อมูลด้วยความเร็วแบบสุดๆ
อย่างที่บอกไปในตอนแรกแล้วว่าชื่อ 4G นั้นถูกเรียกให้เก๋ๆ โดยอันที่จริงแล้วนั้นมันคือยุคของ 3.9G โดยยุคนี้จะเป็นอีกขั้นของการใช้งานข้อมูลโดยจะให้ความสำคัญกับความเร็วเป็นสำคัญ ซึ่งความเร็วที่ 4G LTE จะสามารถทำได้สูงสุดนั้น มีการรับข้อมูลได้ถึง่ 100Mbps และส่งข้อมูลอยู่ที่ 50Mbps โดยมีการเปรียบเทียบกับเทคโนโลยี 3G ว่ามี 4G LTE นั้นความเร็วมากกว่าถึง 7 เท่า
และสรุปเทคโนโลยีเครือข่ายของทุกยุคก็สามารถดูได้จากภาพนี้ครับ…
4G LTE ของทั่วโลกและความพร้อมในไทย
สำหรับเทคโนโลยีในการใช้งาน 4G นั้นมีหลายประเทศใช้งานแล้ว โดยข้อมูลล่าสุดจาก gsacom.com นั้นบอกว่าประเทศที่มีการให้บริการ LTE แบบคิดค่าใช้จ่ายแล้วมีมากถึง 113 เครือข่ายใน 51 ประเทศ และในปีหน้า 2556 จะมีเครือข่ายที่เปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ส่วน 4G LTE ในไทย ผู้ให้บริการในไทยหลายค่ายเริ่มมีการทดสอบการใช้งานกันบ้างแล้ว ซึ่งก็รวมถึงทรูที่ได้ไปทดสอบ 4G LTE บนความถี่ 1800MHz กันแล้วที่วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา (บ้านผมเอง ^^) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากผู้บริหารและทางทีมงานทรูแล้ว ก็ยังมีน้องซี ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ ไปทดสอบกับทางทรูอีกด้วย ลองไปดูวิดิโอที่ทางทรูยกทีมไปทดสอบกับน้องซีกันเลยครับ
สำหรับการทดสอบครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความเร็วที่ใช้ได้จริงของ 4G LTE ในสภาพแวดล้อมจริง ในพื้นที่ห่างไกลอย่าง อ.วังน้ำเขียว ซึ่งผลการทดสอบถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถใช้งานได้จริง โดยมีการการเชื่อมต่อเครือข่ายทั้ง 3G และ 4G โดยสามารถทำได้อย่างราบรื่นไม่สะดุด
ถ้าผลการทดสอบ 4G ของทรู เป็นไปได้อย่างราบรื่นได้อย่างนี้ ผมหวังไว้ว่าในปีหน้า น่าจะเริ่มมีการให้คนทั่วไปได้ทดลองใช้เทคโนโลยีที่เร็วสุดๆ อย่าง 4G LTE เหมือนกับที่ต่างประเทศได้ใช้กันบ้างก็ดีนะครับ
ผมหวังไว้ว่าในปีหน้า น่าจะเริ่มมีการให้คนทั่วไปได้ทดลองใช้เทคโนโลยีที่เร็วสุดๆ อย่าง 4G LTE เหมือนกับที่ต่างประเทศได้ใช้กันบ้างครับ
บทความนี้เป็น advertorial
ข้อมูลอ้างอิง
http://bigta.wordpress.com
http://mobiledevdesign.com
http://www.gsacom.com
http://en.wikipedia.org/wiki/Cellular_network