อยากทำงานแบบลูกจ้าง-นายจ้าง หรือทำงานแบบเพื่อนร่วมงาน

ช่วงที่ผมทำงานในบริษัทอยู่ก็ได้เจอเหตุการณ์หลายๆ อย่างครั้ง ตั้งแต่การเจอกับคนในทีมเองตอนที่ผมยังอยู่ทำงานด้านซอฟท์แวร์อยู่ และเจอคนภายนอกกับการทำงานดิจิทัลเอเยนซี่ ด้วยลักษณะงานที่มันอยู่คนละวงการแน่นอนว่าต้องแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมจะพูดถึงคือรูปแบบการทำงาน ซึ่งทั้งสองที่หรือแม้ว่าจะเป็นที่ไหน ก็น่าจะมีรูปแบบมีแค่ 2 แบบคือ ทำงานแบบลูกจ้างนายจ้าง และการทำงานแบบเพื่อนร่วมงาน

ลูกจ้าง-นายจ้าง

การทำงานประเภทแรกน่าจะเจอบ่อยที่สุดในโลก

ด้วยลักษณะการที่ต้องมีการว่าจ้าง ก็มักจะใช้เกณฑ์ว่า คนที่ถือเงินเป็นใหญ่กว่า และสามารถที่จะใช้อำนาจที่มีสั่งแบบไม่เลี้ยง กดดันทุกวิถีทาง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ (ด้วยเงินที่มี)

ส่วนคนที่อยู่ระดับเดียวกันคือเป็นลูกจ้างเขา ก็มีลักษณะแบบนี้เหมือนกัน แม้จะไม่ได้ถือเงิน แต่ถือว่าตนมีอำนาจด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ และอื่นๆ พร้อมที่จะใช้อำนาจกดอีกฝ่ายทุกเมื่อ

คนที่ปฏิบัติงานจริง ทำได้อยู่แล้วครับ แต่คิดว่าทำได้ไม่นานหากเจอสถานการณ์แบบนี้บ่อยๆ ด้วยสภาพจิตใจที่บอบช้ำ หรือใครชอบซาดิสม์ชอบแบบนี้ผมก็คงว่าอะไรไม่ได้ แค่ผมคิดว่ามันจะไม่ดีกับตัวเราและมุมมองในการทำงานต่อไป

เพื่อนร่วมงาน

มาดูอีกด้านนึงคือการทำงานแบบเพื่อนร่วมงาน การทลายกำแพงกั้นระหว่างลูกจ้าง-นายจ้าง, เจ้านาย-ลูกน้อง ด้วยการตั้งความสำเร็จในการทำงานเป็นจุดหมายปลายทางในการทำงาน

ทุกคนทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากับลูกจ้าง หรือหัวหน้ากับลูกน้อง เมื่อทุกคนลดระดับทุกอย่างให้มาอยู่ที่จุดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและพร้อมใจกันทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย มันก็น่าจะเป็นผลดีใช่ไหมครับ?

ลักษณะที่สองผมจะเจอน้อยมากในการทำงานเอเยนซี่ เมื่อนายจ้างสั่งมาให้บริษัททำ ทุกอย่างก็ถือว่าเขาสิ้นสุดการทำงานของเขาแล้ว จะเหลือแค่รอการประเคนงานให้กับเขา ซึ่งเราก็รู้ดีอยู่หล่ะว่าพอส่งให้ก็ไม่พอใจ ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าถ้าไม่พอใจทำไมไม่ลงมาดูด้วยตั้งแต่แรกนะ? และหลายครั้งที่นำเสนอให้ระหว่างที่ทำก็ไม่มีการตอบสนองใดๆ แต่ใช้การเบ่งว่า “ชั้นเป็นคนจ่ายเงินนะ พวกคุณต้องทำมาให้ชั้น ชั้นไม่มีเวลามานั่งดูหรอก ไปทำมาให้เลือกเลย 3 แสน options (…คือได้ยินแบบนี้โคตรบ่อย) สุดท้ายปลายทางเราก็เดาออกถึงความหายนะแบบไม่ต้องเดาให้เมื่อยตุ้ม

ลักษณะเพื่อนร่วมงานนั่นคือการทำให้ทุกภาคส่วนสลายทุกอย่างแล้วลงมารุมหัวทำด้วยกัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการความช่วยเหลือ มันก็น่าจะทำให้งานสามารถทำงานไปได้ด้วยดี แม้อาจจะต้องเสียเวลาในการมานั่งไล่ดูหรือการอัปเดทในแต่ละช่วง แต่ก็น่าจะดีกว่าการที่ต้องมารื้อทำใหม่ทั้งหมดเมื่อทุกอย่างเสร็จแล้วแต่ไม่ถูกใจ (ชั้นจะเหวี่ยง มีไรม่ะ)

ทั้งหมดทั้งมวลที่เขียนมาขนาดนี้ ผมแค่อยากจะบอกว่า การทำงานของทุกฝ่ายมันต้องคำนึงถึงใจเขาใจเราด้วย ไม่มีวิธีไหนถูก-ผิด โดยทั้งสองแบบควรจะต้องทำแบบผสมผสานกัน คือมีทั้งการแบ่ง level ในองค์กร แต่การทำงานควรเป็นแบบ Flat ลงมาเข้าถึงหรือเดินไปหาแบบง่ายๆ

และผมชอบการทำงานแบบเพื่อนร่วมงาน ที่ช่วยกันทำงาน

…ไม่ใช่เอาเพื่อนร่วมงานมาเป็นที่โยนงานใส่ทีหลัง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.