“แล้วคุณจะต้องอึ้ง…” “แจงแล้ว!” “รับแล้ว!” ประโยคหากินของเว็บไซต์หลายๆ เว็บ ซึ่งผมคงไม่ต้องบอกชื่ออะไรมากมาย ohozaa, catdumb, petmaya (ชื่อนี้แม่มไม่ไหวจริง) และอื่นๆ อีกหลายสิบเว็บที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ดคล้ายขายตรงแชร์ลูกโซ่มาก และเว็บเหล่านี้มาในวิถีทางเดียวกันก็คือ การล่อให้คนคลิกด้วยเนื้อหาที่ไปลอกเขามา
การล่อให้คลิก หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Click Bait มันก็คือการทำวิธีการใดๆ ก็ได้ที่จะทำให้คนคลิกเข้าไป แต่ก่อนเราก็จะเห็นลักษณะที่คล้ายๆ กันก็คือปุ่มที่เรียกว่า Call-to-action หรือทำให้คนทำอะไรบางอย่างผ่านข้อความผ่านปุ่ม เช่น Call Now, Shop Now อะไรเทิอกๆ นี้
แต่สำหรับ click bait มันเป็นการสร้างพาดหัว, ข้อความที่ชวนคุณอยากจะดูต่อหรือคลิกต่อ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีลักษณะและรูปแบบของแต่ละเจ้าที่แตกต่างกันและมุขก็รู้ทางกันเป็นอย่างดีสำหรับคนที่ติดตามอ่านกันอย่างเป็นประจำ
ด้วยความเฝือของหลายๆ เว็บไซต์ที่หันมาเล่นอะไรแบบนี้ใน pattern เดียวกันทั้งหมด ทำให้เรารู้ทาง แต่หลายคนรู้ทางก็ยังยินดีที่จะเข้าไปอ่านเพื่อรอดูว่ามันจะอึ้ง หรืออึ้งแดกแกลบจริงอย่างที่ว่าหรือไม่
เอาจริงๆ นะ ผมไม่ติดใจอะไรหรอกถ้าเขายินดีที่จะเล่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะก็ยังมีคนรออ่านอะไรแบบนี้อยู่เรื่อยๆ แค่ปริมาณของมันก็จะลดลงไปเองตามความน่าเบื่อของการนำเสนอด้วยคำพาดหัว
แต่ประเด็นมันอยู่ที่เนื้อหาข้างในนี่สิ เพราะมันเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงมาจากการคลิกพาดหัว ซึ่งจะบอกว่าร้อยละ 120 มันเป็นเนื้อหาที่ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ตัวเองคิดและทำมาเลย
เพราะถ้าให้ลองเข้าไปดูเว็บพวกนี้เราก็จะเห็นว่าเนื้อหามีอยู่ 2 อย่างคือ แทบจะไม่มีอะไรเลย แค่มีลิงก์ YouTube ที่ไปหามาแล้วแปะ หรือไม่ก็เป็นเนื้อหาที่ถูกคัดสรรจากเว็บไซต์คุณภาพหรือเว็บพ่อเฒ่า (Portal) ที่อาจจะไปก็อปมาอีกต่อนึงก็เป็นได้ ซึ่งมีเยอะเสียด้วยสิในช่วงนี้
ถามว่ามีอะไรที่เป็นของตัวเองไหม ผมไม่กล้าตอบ เอาเป็นว่าผมหาไม่เจอก็แล้วกันครับ…
ก็อปปี้ไม่พอ บางทีเนื้อหากับพาดหัวก็ไม่มีความสัมพันธ์อะไรเลย สิ่งที่คนอ่านได้คือความเซ็ง สิ่งที่คนก็อปได้คือตัวเลขในการเข้ามาชมเนื้อหาและการคลิกจากช่องทางโซเชียลมีเดียของเขา
ความเซ็งของเราตีมูลค่าไม่ได้ครับ นอกเสียจากว่ามันจะเป็นการทดในใจว่า ถ้าเราเห็นเว็บนี้อีก เรามีโอกาสที่จะกดเข้าไปน้อยลง
แต่สำหรับเจ้าของเว็บหรือเจ้าของเพจเขาได้ตัวเลขไปครับ ตัวเลขเหล่านี้มันก็คือสิ่งที่เขาจะเอาไปขายให้กับคนที่ลงโฆษณาที่ไม่ได้สนใจว่าคุณภาพของคนที่จะเข้ามาดูเว็บไซต์จะเป็นอย่างไร เน้นเพียงแค่ว่าให้คนได้เห็นมากที่สุด ซึ่งถ้าถามว่าผิดไหม ก็ไม่ผิดหรอกครับหากมีมุมมองในแง่ว่าจะให้คนเห็นมากที่สุด แต่ถ้าถามว่าคุณยินดีจะให้เงินกับคนที่ไม่ได้ทำอะไร แต่ได้เงินคุณไปฟรีๆ คุณจะโอเคไหม
(แล้วมันจะมีใครคิดเยอะแบบผมไหมวะ 555) แต่ก็นั่นแหละครับ อยู่ที่วิจารณญาณของคนจะจ่ายค่า media บน ทำ media ที่คูลๆ อย่างนั้น
วิธีการแก้ไขของเจ้าของเนื้อหา ก็คงจะต้องตั้งใจทำสิ่งที่ตัวเองทำและเป็นกันต่อไปครับ ผมคนนึงแหละที่เชื่อว่าคนรอเสพย์เนื้อหาที่มีคุณภาพจริงๆ เป็นจำนวนไม่น้อยเลย และก็ทำต่อไป เพราะผมเชื่อว่าการทำเนื้อหาเป็นอะไรที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ต้องทำในแนวทางของตัวเอง ไม่ใช่ไปรอลอกชาวบ้านแล้วเอามาเป็นของตัวเอง
ปล.ขอสารภาพว่าเรื่องนี้ผมเขียนๆ ลบๆ บนโทรศัพท์เยอะมากที่สุดตั้งแต่เคยเขียนมา จนเมื่อสงกรานต์มาเจอเรื่องนี้ใน GTH มันเลยจุดไฟให้ผมกลับมาเขียนต่อให้จบ มันเกี่ยวกับสิ่งที่ผมเขียนไปไม่มากก็น้อย ลองดูกันครับ
ปล.2 ผมใช้ Apple ไม่ใช้ Samsung