ด้วยความที่ตัวเองดู TED Talk (ที่ไม่ใช่ไอ่หมีบ้องยา) มาบ้าง เลยมีความรู้สึกว่า สักครั้งเราน่าจะได้มีโอกาสไปดูแบบเห็นตัวเป็นๆ บ้าง อาจจะไม่มีบุญไปชุบตัวไกลๆ ถึงเมืองนอกเพื่อเข้างาน แต่เมืองไทยก็ควรจะมีได้แล้วนะ
ปี 2015 ดีใจมาก เพราะจะมีงาน TED Talk เกิดขึ้นในไทย และ TEDxBangkok ก็มีการจัดงานครั้งแรก เราไม่สนใจอะไรมาก รีบเข้าไปสมัครเลย ซึ่งการสมัครก็ถือว่าเป็นความแปลกใหม่ เพราะมีเงินไม่ได้ ต้องมีแนวคิดในการเข้าร่วมงานด้วย ด้วยการที่ต้องตอบคำถามในหน้าเพื่อยื่นความจำนงในการเข้าร่วมงาน อารมณ์ประมาณ เขียนใบสมัครงานรอนายจ้างมาอ่าน ปรากฎว่า ไม่ได้จ้า ได้มาเป็น waitlist แทน ณ ตอนนั้นก็ไม่ได้อะไรมาก เซ็งเล็กน้อย
แต่ก็เซ็งหนัก เพราะรู้ว่า เหล่าบรรดาเซเลปทั้งหลายต่างได้เข้าร่วมงานกันซะอย่างนั้น เราก็โมโห ส่งเมลกลับไปเลยว่า ขอสละสิทธิ์ Waitlist แม่ง ไม่นานทางทีมก็โทรตรงกลับมาบอกว่าจะให้เข้าร่วม เพราะทางเราจะเชิญอยู่แล้ว (เขารู้เบอร์เพราะลืมเอาลายเซ็นออก) ก็เลยบอกไปว่า ให้คนที่เขาอยากไปดู ไปเถอะครับ ผมไม่อยากดูแล้ว…
…ตัดจบ TEDxBangkok 2015
2016 TEDxBangkok กลับมาอีกครั้ง ด้วยรูปแบบเดิมคือใบสมัครส่งไปก่อน จากนั้นก็ค่อยรู้ผล คราวนี้ก็กรอกสมัครไปเหมือนเดิม โดยทิ้งท้ายเอาไว้เรื่องการให้สิทธิ์เหล่าบรรดาเซเลปหรือสื่อมวลชนมากเกินความจำเป็น ถ้ายังทำอยู่แบบปีก่อน ผมขอสละสิทธิ์ใบสมัครนี้ไปเลย …ปรากฎ ได้ งงไหมหล่ะ
…ตัดมาวันงาน TEDxBangkok 2016
เนื่องจากง่วงชิบหาย เลยตื่นช้ากว่าที่คิดไว้ เพราะใน Agenda บอกว่าเริ่ม 8 โมง แต่เอาเข้าจริงเริ่ม 9 โมง ผมไปถึงก่อน 9 โมงนะ นัดเจอจุ๊บจะได้พอมีคนคุยด้วยบ้าง เพราะคิดว่าคงไม่ค่อยมีใครรู้จักคุย (อยากมาฟังมากกว่า)
เอาจริงๆ เป็นงานที่ไม่ได้สนใจ Agenda เลย ไม่รู้ว่าใครพูดกี่โมง รู้แค่ว่า เราอยากฟัง ป๋อมแป๋ม เทยเที่ยวไทย, น้าต๋อย 2 คน แต่ไม่รู้ว่าเขามากันกี่โมง
ภาพรวมคือ บางอย่างเข้าถึงบ้าง เข้าไม่ถึงบ้าง แต่ก็เห็นความตั้งใจในการสื่อสาร อาจจะเป็นเพราะผมคงเข้าไม่ถึงเอง เช่น Rap is Now, Bangkok Swing เป็นต้น
งั้นมาสรุปประโยคที่ชอบละกัน…
นพ.อัศวิน และ พญ.พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ – จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ
- ชื่นชมตัวเองได้ ให้อภัยตัวเองเป็น
- พัฒนาไปตามทางของตัวเอง ให้เป็นไปในสิ่งที่เราต้องการทำอยู่แล้ว และเป็นความปรารถนาในสิ่งที่ตัวเองอยาก
- ทำดีกับตัวเองโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น และทำดีกับผู้อื่นโดยไม่เบียดเบียนตัวเอง
นักรบ มูลมานัส – กราฟิกดีไซเนอร์อิสระ
- ไทยถูกแช่แข็ง เพราะต้องมีคนมาตัดสินว่าถูกหรือไม่เท่านั้น
- Cornelage หรือ คอลลาจ คือความขัดแย้งที่มาอยู่ร่วมกันแล้วทำให้น่าสนใจ
- วัฒนธรรมไม่มีคนทำลาย มีแต่คนละลืมเลือนมันไป
สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ – นักร้องและนักดนตรีชาวปะกากญอ
- ไม่สำคัญว่าคนจะมองเราอย่างไร
- ถ้าอยากกินปลา ไม่จำเป็นต้องไปตกปลา แต่เราสอนให้คิดถึงการดูแลต้นน้ำ ป่าไม้
อนุทิน วงศ์สรรคกร – คัดสรร ดีมาก
- ถ้าเราเอาชนะเวลา เราจะพบกับการสูญเสียความเป็นปัจเจคบุคคล (individual)
- การออกแบบ ไม่ใช่แค่การออกแบบ แต่เป็นเรื่องของการจัดเก็บด้วย
- การออกแบบตัวอักษร มีการคิดถึงพื้นที่ที่คนจะมองเห็น จะต้องมีให้มาก โดยให้นึกถึงว่าเวลาเรามองภาพตัวอักษรนั้นเบลอ เราจะยังคงเข้าใจอยู่ว่าตัวอักษรนั้นต้องการสื่อสารอะไร
- ข้อมูลที่มีค่าจะไม่มีค่าเลยถ้ามนุษย์ไม่สามารถอ่านรหัสภาษานั้นได้
อาเจ็กสมชัย กวางทองพาณิชย์ – พ่อค้าผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชุมชน
- ไม่ยากที่จะเพิ่มคุณค่า ถ้าเราค้นหาความเป็นจริง โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักวิชาการ
- คุณสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้
- แค่เริ่มคิดว่าอะไร มาจากไหน เท่านี้ก็เริ่มมาถูกทางแล้ว
- ให้เกียรติคนในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าเขาสามารถทำงานได้ดีกว่าเรา ที่ไม่ใช่คนพื้นที่
น้าต๋อย นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์ – นักพากย์การ์ตูน
- ให้เราหวนคิดความเป็นเด็กด้วย
- ให้นึกถึงตอนเราดูการ์ตูน เราอยากเป็นพระเอก เราอยากเป็นคนดี เป็นคนมีคุณธรรม
- น้าต๋อยนึกถึงการสร้างความรู้สึกดีๆ ใหกับเด็กๆ
- ทำตามฝันตัวเอง แม้จะขาดทุนทั้ง Event และทำการ์ตูนฮีโร่คนไทย (ฉายได้ครึ่งเดียวที่ช่อง 5 จากนั้นทางช่องก็งดออกอากาศเพราะเปลี่ยน ผอ.สถานี)
- ความสุข คือการได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
- ตอนที่มีปัญหาเรื่องผู้ใหญ่ในสังคมตั้งคำถามว่า การ์ตูนคือสื่อที่มอมเมาเยาวชนใช่ไหม น้าต๋อย ในฐานะตัวแทนของช่องเก้า โดนตั้งคำถาม “เด็กที่ดูการ์ตูน ซึ่งเป็นสื่อมอมเมาไร้สาระ โตขึ้นจะไปเป็นอะไร?” เขายิ้มแล้วตอบว่า “เป็นคนดี…”
กลับมาที่ปัจจุบัน น้าต๋อยเล่าว่าตอนกำลังจะเข้าห้องผ่าตัด เมื่อสองปีที่แล้ว เขาป่วยหนักจนคิดว่าตัวเองไม่รอด ในห้องผ่าตัดหมอสองคนมาจับมือเขาแล้วบอกว่าผมเป็นแฟนน้าต๋อยตั้งแต่เด็กๆ และผมจะช่วยชีวิตน้าต๋อยให้ได้…
“คำถามที่ถามผมว่าเด็กที่ดูการ์ตูนโตขึ้นจะไปเป็นอะไร คำตอบคือเขาโตขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิตผม…”
น.สพ.กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร – ประธานเจ้าหน้าที่นวักรรม บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด
- มองหาโอกาสจากปัญหา โดยที่เอาปัญหามามองในมุมที่แตกต่าง, หานักวิชาการมาร่วมมือในการทำงานเพื่อให้มุมมองที่แตกต่าง โดยมีความเชื่อในสิ่งที่ทำ และมีคุณธรรมในการทำธุรกิจด้วย
- คิดแล้วลงมือทำด้วย!
พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา – ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
- เราทำงานกับคน 2 โลก การเชื่อมโยงของคน 2 โลก (เมืองกรุง กับ ต่างอำเภอ) ต้องเข้าใจและเข้าถึงจริงๆ ไม่ใช่พวกจิตอาสานั่งรถบัส 2 ชั้น พอมาถึงเข้าไปที่นั่นไม่ได้ ต้องหารถมารับ พอหารถมารับก็โวยวาย…
- หยุดคิดถึงชีวิตเรา แล้วคิดถึงชีวิตคนอื่นบ้าง
- ไม่มี 2 โลก มี 1 โลกที่มีความหลากหลายของการใช้ชีวิต
จอมทรัพย์ สิทธิพิทยา – ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ EXZY Company Limited
- มีการยกตัวอย่างของฝีมือคนไทยที่ดังในระดับโลก เช่น งาน CG ของ Game of Thrones, ผู้ชนะงานแข่งประกอบเคส ระดับโลก
- แรงงานฝีมือจริงๆ ในเมืองไทยมีน้อย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ยังขาดคนแบบนี้มาก
- คิดถึงการให้มูลค่าและให้ความหมายของสิ่งที่ต้องทำ
ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร – โปรดิวเซอร์และพิธีกรรายการ เทยเที่ยวไทย และ ทอล์ก-กะ-เทย Tonight
- Stereotype = Attitude
- การเที่ยวไปแปะป้ายใส่คนอื่น = เราพร้อมที่จะเชื่อว่าคนคนนั้นเป็นแบบที่ป้ายบอก
- ยกตัวอย่างการทำรายการเทยเที่ยวไทย ช่วงแรกๆ ก็โดนต่อต้าน มีเทปนึงเป็นการพาแม่แต่ละคนไปเที่ยว มีคุณแม่ที่ชมรายการเขียนมาบอกว่า เขารู้ว่าจะดูแลลูกอย่างไรต่อไปให้เป็นคนดีในสังคม
- นั่นคือการที่เราบิดด้านอื่นๆ ให้คนเห็นอีกด้านที่มันดี ไม่อย่างนั้นแล้วคนก็จะเอาแต่มองเห็นด้านที่แสงส่องเห็นเท่านั้น
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ – ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI
- ประเทศไทยมีการเปิดให้เข้าถึงข้อมูล น้อยกว่าจีนและรัสเซียเสียอีก (โชว์ภาพจอเขียว ICT คือฮามาก)
- ข้อมูลที่เปิดให้เข้าถึงคือ ละติจูด ลองติจูดของแต่ละตำบล ซึ่งเปิด Google Maps ก็ดูได้หมดแล้ว…
เต๋อ นวพล ธำรงค์รัตนฤทธิ์ – ผู้กำกับภาพยนตร์ โฆษณา และมิวสิควีดีโอ
- ภาพนิ่งคือสิ่งที่คนอ่อนไหวง่ายที่สุด
- 1 ภาพ อยู่ที่การบรรยายของแต่ละคน
- ผู้กำกับภาพยนตร์คือ นักโกหกตัวยง เพราะ เขาต้องการจะนำเสนอในสิ่งที่ต้องการให้คนเห็นเท่านั้น (เต๋อใช้ภาพแคบในการถ่ายทำหนัง แล้วขยายออกมาให้คนเห็นให้เห็นเบื้องหลัง นั่นคือสิ่งที่เขาไม่อยากนำเสนอ)
ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ – ผู้เชี่ยวชาญด้านสัญญาณสมอง
- หาวิธีการช่วยจากอาการอัมพาตจาก Open Source แม้กระทั่ง Soundcard ก็สามารถทำเครื่องนี้ได้เหมือนกัน
- ตอนจังหวะคนไข้ที่เป็นอัมพาตครึ่งตัวขี่จักรยานที่ใช้การบังคับด้วยสมองออกมา คนปรบมือนานมาก และ session นี้มีคน Standing Ovation เยอะที่สุด
- ถ้าไม่มีหมอทำอะไรบ้าๆ แบบนี้ ก็คงไม่มีวันนี้
เอาละ ชอบใครมากสุด…
อันดับ 3 น้าต๋อย และ นักรบ
ให้ 2 คนนี้เท่ากัน กินกันไม่ลง คนนึงคือเสียงที่คุ้นเคย อีกคนคือแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ลีลาการพูดของนักรบ ทำให้ผมยกนิ้วให้
อันดับ 2 ผศ.ดร.ยศชนัน
อันนี้เหมือนจะไม่มีอะไรเพราะเล่ามาแบบตลก แต่พีคสุดๆ ก็คือตอนที่คนไข้ปั่นจักรยานออกมา น้ำตาไหลจริงๆ เสียดายไม่ได้ถ่ายรูปไว้
อันดับ 1 อาเจ็กสมชัย
ดาวเด่นของงานจริงๆ อาเจ็กคือคนธรรมดาที่โคตรไม่ธรรมดา เขาคือคนเล่าเรื่องและคนที่มีความขวนขวายในการหาข้อมูลอย่างแท้จริง แค่คิดสงสัยแล้วจะเริ่มทำ เท่านี้ก็มาถูกทางและถูกต้องแล้ว (แกใช้ wiki, pantip, google ในการหาข้อมูลเรื่องแถบสำเพ็งและเยาวราชทั้งหมด)
โดยรวมของงาน ได้ยินจากคนที่มาปีที่แล้วว่า ดีกว่าเดิมเยอะมาก ส่วนผมคิดว่าโอเคเลยนะ เสียแค่พื้นที่ตอนแจกข้าว แจกเบรคเล็กไปหน่อย อันนี้โจทย์ใหญ่หากจะเลือกที่นี่
คนเข้าฟังค่อนข้างตรงเวลา เปิดปิดประตูให้คนเข้ามานั่งได้ดีมากๆ (ทำเอาคนเคยเป็นเบื้องหลังงานหลายๆ งานอย่างผมอาย) และคนอยู่จนจบงาน น่าจะเกิน 90%
จบครับ ถ้ามีโอกาสไป อยากจะไป TEDxบึงแก่นนคร, TEDxChiangmai ไม่รู้ว่าจะได้ไปไหม