คำนี้วนเวียนอยู่ในหัวผมมาหลายสัปดาห์ และเป็นคำที่ผมมักจะสะกดผิดตลอด แถมผมยังชอบจำสลับกับอีกคำ ที่แปลว่า ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นอีกคำที่คล้ายๆ กัน
คำๆ นี้ผมมาได้ยินบ่อย เพราะมันเป็น 1 ใน 3 คำที่หน่วยงานที่ปัจจุบันผมสังกัดหยิบมาใช้ในการทำงาน ในทุกๆ งานจะต้องมีคำนี้ถูกใส่ลงไปในงานหรือชิ้นงาน และนำเสนอออกมาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ความเอาใจใส่ มักถูกหยิบเอามาใช้กับงานที่ต้องการความละเอียด หรือต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคน เช่น งานบริการ แต่อันที่จริงแล้ว ความเอาใจใส่ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีกับทุกงาน เพราะในแต่ละมุมล้วนมีคนเข้าถึงหรือสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน
พอเอาเรื่องความเอาใจใส่มาเป็นที่ตั้ง สิ่งที่มักตามมาก็คือ ความละเอียด ความเคร่ง เพื่อความสมบูรณ์แบบในชิ้นงานหรือผลงาน ที่ปลายทางนั้นจะได้รับความรู้สึกจากสิ่งที่เราเอาใจลงไปใส่
ถ้าเป็นคำที่คุ้นเคย ความสมบูรณ์ ก็คือ Perfect ส่วนถ้าเป็นคนก็ Perfectionist
อะไรที่มันมากจนเกินไปหรือเกินพอดี ผลที่ได้มักเป็นลบมากกว่าเป็นบวก
ซึ่งก็ไม่ยกเว้นกับคำว่าเอาใจใส่ เพราะการเอาใจใส่มากๆ ผลที่ได้อาจจะบวกกับสิ่งที่คนได้รับ แต่อีกด้านมันก็อาจสร้างพลังงานลบส่งกับของรอบตัวหรือแม้แต่ตัวเอง
…และยอมรับว่าผมก็เคยเป็น และตอนเขียนตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ ฮ่าๆ
อาจจะคิดว่า “การเอาใจใส่มากเกินไป” เป็นสาเหตุหลักในเรื่องนี้ อันที่จริงแล้ว มีผู้ต้องหาร่วมของเหตุนี้ด้วย นั่นคือ “ความไม่เข้าใจ”
ความไม่เข้าใจ ไม่ได้หมายถึงว่า เราไม่เข้าใจในสิ่งที่ทำ แต่หมายถึงการสร้างหรือทำให้เข้าใจ ว่าทำไมถึงต้องเอาใจใส่ในเรื่องนี้ด้วย นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้ปลดล็อกทุกสิ่งอย่างได้ …แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ได้ 100% นะ เพราะส่วนผสมอีกหลายอย่างนอกจากการสร้างความเข้าใจ หนึ่งในนั้นคือการสื่อสาร ไว้ผมจะมาเล่าอีกทีถ้ามีโอกาส
ถึงจะบอกส่วนผสมหรือบอกสูตรมาถึงขนาดนี้ มันก็ยังไม่ช่สูตรสำเร็จในการทำให้เกิด Empathy ที่กลมกล่อมหรอกครับ เพราะมันยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้ Empathy มันสามารถทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ทำให้ทุกภาคส่วนยิ้มได้ แบบยิ้มสบายใจไม่เก็บเอาไปหลังไมค์นะ (แม้มันจะต้องมีบ้างแหละในโลกแห่งความเป็นจริง)
ผมคงปิดท้ายเอาไว้ว่า อย่าลืมที่จะเอาใจ “ใส่” ลงในทุกสิ่งที่ทำ เพราะผมเชื่อมาเสมอว่า ถ้าใจมันมา และถูกแพ็กลงไปในงานที่ทำ คนที่ได้เห็น ได้รับรู้ ได้รู้สึกเอง แค่ระลึกไว้เสมอว่า ทุกอย่างต้องมีความพอดี เกินพอดีได้ แต่อย่าให้มันมากจนเกินไป
นั่นก็หมายถึง หากมี empathy แล้ว ก็อย่าลืมนึกถึง sympathy “ความเห็นอกเห็นใจ” ด้วย
ภาพ cover จาก pixabay