ไม่มีใครที่จะชอบจนเหมือนกันทุกอย่าง 100% ได้หรอก มีแต่ว่าเราสามารถยอมรับสิ่งที่เขาชอบหรือความชอบของคนคนนั้นได้หรือไม่ และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจ
…นี่ควรจะเป็นเรื่องจริง(ใช่ไหมนะ ฮ่าๆ)
Pleasure มันคืออะไรก็ตามที่เราชอบ หรือพึงพอใจ
ที่มาที่ไปที่ต้องมาเขียนถึงเรื่องนี้ก็คงเป็นเพราะการจุดประกายจากประโยคของน้องสิตา CGM48 ที่ถูกพูดออกมาระหว่างการพูดคุยในการ Audition เพื่อเข้าเป็นสมาชิกในวง (ในรายการ CGM48 Senpai) พูดถึงการตัดสินความชอบของคน
เราไม่รู้ว่าที่ผ่านมาน้องเจออะไรบ้าง แต่จากประโยคด้านบน น่าจะเจอเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินความชอบมากพอสมควร แต่สิ่งที่สำคัญที่น้องยังคงอยู่เพราะน้องรู้ว่าชอบอะไร แล้วน้องใส่เต็มความสามารถ จนมาถึงตอนนี้ที่สามารถเป็น 1 ในสมาชิก ได้
คำสำคัญของประโยค คือ ความชอบ และ การดูถูกความชอบ เป็นชุดคำสองชุด ที่มีไม่มีประธานและกรรม และมีความทุกข์ซ่อนอยู่
คุณเคยตั้งเครื่องหมายคำถามกับความชอบของตัวเองบ้างไหม
และคุณเคยตั้งเครื่องหมายคำถามกับความชอบของคนอื่นบ้างไหม
ไม่ต้องตอบคำถามหรอกครับ เพราะผมแอบเชื่อว่าคำตอบน่าจะคล้ายๆ กันทุกคน
การดูถูกความชอบนี่เป็นอะไรที่บั่นทอนมากๆ นะ ทั้งในการดำรงชีวิต และการทำงาน ไม่รู้สิ เพราะผมอาจจะอินในเรื่องที่ผมชอบมากๆ แล้วก็ไม่อยากให้ใครมาตัดสินสิ่งที่เราตัดสินใจชอบไปแล้ว ณ เวลานั้น
เพราะแต่ละคน มีพื้นที่เล็กๆ สนามเล็กๆ ของเราที่สำรองความชอบของเราไว้ให้เราเพียงคนเดียว พอเราแค่แง้มบานประตูบอกคนอื่นว่า เราชอบแบบนี้ คลื่นดุจสึนามิก็มาถล่ม ทำให้คนที่จิตใจหวั่นไหว(และอ่อนแออย่างผม) ต้องกลับมาทวนตลอดว่า “กูผิดเหรอวะที่ชอบแบบนี้”
กูชอบ Helly Kitty ตั้งแต่มัธยมด้วยสาเหตุนึง ชอบถึงขนาดสานฝันไว้ว่า ถ้าไปญี่ปุ่นครั้งแรก กูจะไปสวนสนุก Hello Kitty (ซึ่งก็ทำได้จริง)
หรือกูชอบฟังเพลงญี่ปุ่น เพราะทำนองมันแหวกแนวดี ถึงแม้จะเคยพยายามแกะเนื้อร้องจากปกเทป (เน้น เทป) ว่าตัวอักษรญี่ปุ่นที่มันร้องแบบนี้ มันเขียนแบบนี้ มาแล้วก็ตาม
ผมมักได้ประโยคตอบกลับในเชิงที่เป็น negative สำหรับผมเสมอ โดยเฉพาะ Hello Kitty ซึ่งคนพูดบางทีเขาไม่คิดหรอกว่าสิ่งที่เขาพูดที่ดูกลางๆ มันจะเหมือนเป็นดาบแทงเข้าไปในใจผม ถึงขนาดเคยเลิกไปยุ่ง เลิกฝัน แล้วก็ตามที
นั่นเป็นคำพูดที่ถือว่าเป็นการดูถูกความชอบสำหรับผมในตอนนั้น และบางคนก็อาจจะพลิกเป็นคำสวยๆ ว่า “ทำไมไม่ทำให้คำดูถูกนั้นเป็นแรงผลักดันหล่ะ” อันนี้ก็ห้ามความคิดกันไม่ได้ เพราะเหรียญมันมี 2 ด้าน ลูกเต๋ามี 6 ด้าน มองมุมไหนก็เห็นมุมนั้น แล้วแต่คนจะคิดจริงๆ
แต่มันคงจะดี ถ้าเราสามารถเปิดใจยอมรับ เหมือนย่อหน้าแรกที่ผมเขียนเอาไว้ในบล็อกนี้
จริงๆ ความพึงพอใจ มันมีอีกแบบ เรียกว่า Guilty Pleasure คือ เราชอบ เราพึงพอใจมากๆ แต่เป็นการชอบแบบคนเดียว ไม่อยากจะบอกให้ใครรู้ เพราะถ้าคนอื่นรู้เราก็อาจจะโดนตัดสินอีก ซึ่งมันก็จะวนลูปเดิมๆ
ยกตัวอย่าง Guilty Pleasure ของผม เช่น ผมชอบดูหนังเรื่องเดิมๆ ได้เป็น 100-200 รอบได้แบบไม่มีเบื่อ (ตอนที่เขียนยังเปิดดูซีรีส์เรื่องนึง รอบที่ 20 กว่าๆ) หรือผมสามารถฟังเพลงที่ชอบในตอนนั้นแบบวนลูปซ้ำเพลงเดิม ได้ตั้งแต่ขับรถออกจากคอนโดกรุงเทพจนถึงบ้านโคราช
แต่พอผมต้องอยู่กับคนอื่น การทำแบบนี้อาจจะไม่ใช่ Pleasure สำหรับคนนั้นๆ มันเลยเป็น Guilty Pleasure ที่เราตั้งขึ้นมา
ดังนั้น เราจึงไม่สามารถยัดเยียดความชอบของเราใส่ลงในหัวสมองคนอื่นได้ให้เขาชอบเหมือนเรา แต่เราสามารถนำเสนอด้วยความที่เขาเปิดใจยอมรับด้วย
เรื่องนี้มันต้อง win-win กันทุกฝ่าย ถ้าเราชอบ เราก็ต้องไม่ยัดเยียดจนเกินไป ถ้าเขารู้ว่าเราชอบแบบนี้แต่ไม่ชอบ การเงียบอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเรื่องนี้ หรือลองดูสักครั้งแล้วบอกความรู้สึกไปแบบถนอมหูและสมอง น่าจะช่วยให้เราสามารถดำเนินความสัมพันธ์ได้ต่อไป
เพราะทุกคนล้วนต้องสวมหมวกทั้ง 2 ใบนี้แน่ๆ
เราต่างมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้เรามาชอบในเรื่องๆ นั้นได้ ดังนั้น อย่าเอาชุดความคิดของเราไปตัดสินความชอบของคนอื่น ในทางกลับกัน ความชอบของเราก็คงไม่อยากจะถูกตัดสินและดูถูกด้วยความคิดของคนอื่นเช่นกัน
เปิดใจกว้างๆ โลกเรามีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ
…เพราะ “ข้างนอกคือสิ่งใหม่ๆ ที่เราต้องเรียนรู้”
ขอสารภาพในย่อหน้าสุดท้าย จริงๆ ผมน่าจะใช้ดราฟแรกที่คิดชื่อเรื่องเอาไว้นะ แต่ผมต้องเปลี่ยนแหละ เพราะผมตั้งชื่อว่า “จะชอบอะไร มันก็เรื่องของกู”
ปล.เลือกลูกโป่ง 2 ลูก 2 สีมาเป็นปก แทนความคิดของคนสองคนที่ไม่เหมือนกัน และมันดูอิสระแต่ไม่อิสระ เพราะมันลอยได้แต่มีเชือกผูกไว้อยู่ 🙂