3 EP ที่ชอบใน #กักตัวStories เรื่องสั้นจากนาดาวที่เล่าเรื่องและสร้างผ่านข้อจำกัดของโควิด-19

สืบเนื่องจากการดู YouTube เยอะขึ้นในบล็อกที่ผ่านมา เลยต้องขอพูดถึงคอนเทนต์บน YouTube อีกสักบล็อกแล้วกันนะครับ เพราะยังไม่ได้พูดถึงเรื่องสั้นที่ได้ตามดูตั้งแต่ EP1 ถึง EP10 นั่นคือ #กักตัวStories จากค่ายนาดาว

บล็อกนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากนาดาวหรือ GDH แต่อย่างใด เขียนด้วยความชื่นชอบไอเดีย, ที่มาที่ไป, เนื้อเรื่องที่หยิบมาเล่า และความชื่นชอบค่ายเป็นการส่วนตัวเท่านั้น

ในช่วงโควิด ธุรกิจแทบทุกอย่างหยุดไปซึ่งก็ล้อตามการประกาศขอความร่วมมือและการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสื่อบันเทิงที่ไม่ใช่รายการข่าว ทุกที่ล้วนได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของคนทำงานเบื้องหน้าเบื้องหลัง และตัวคอนเทนต์ที่ไม่มีอะไรใหม่ๆ ออกมาให้ชม

วิธีแก้ปัญหาสำหรับรายการในช่องโทรทัศน์ คือการเอารายการที่เคยออกอากาศไปแล้วมารีรันอีกรอบ โดยเฉพาะการเอาละครเก่าๆ กลับมาให้ชมอีกครั้ง เพื่อรอเวลาให้สถานการณ์ดีขึ้นและสามารถออกไปถ่ายทำได้ต่อตอนใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ ได้

แต่กับคนที่เป็นคนผลิตคอนเทนต์ล่ะ ผู้กำกับ นักแสดง คนกอง ทุกอย่างคืนหยุดนิ่งแบบได้แต่รอเวลาปลดล็อกให้กลับมาปกติ

แต่กับนาดาวไม่ใช่อย่างนั้น ใช้กำแพงเรื่องการถูกจำกัดพื้นที่หรือการกักตัวมาเป็นแกนเพื่อให้มีคอนเทนต์ผลิตออกมา โดยเป็นโปรเจคที่ชื่อว่า กักตัว Stories

คุณปิง เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้ที่มีผลงานการกับกับและเขียนบทซีรีส์หลายๆ เรื่องของนาดาว เช่น ฮอร์โมน Season 2,3 ขึ้นแท่นมาเป็นโปรดิวเซอร์โปรเจคนี้

การถ่ายทำนั้นมีการตั้งกติกาง่ายๆ (แต่ทำโคตรยาก) คือ ไม่มีการออกกองเหมือนการถ่ายซีรีย์ปกติ จะใช้การคุยผ่านการคอล ออกจากบ้านให้น้อยที่สุด นักแสดงจะถูกแปรสภาพให้กลายเป็นทีมงานไปด้วย ในการหาฉากในบ้าน, ในห้อง การเลือกเสื้อผ้า การหามุมถ่ายภาพที่ต้องเป็นคนหาไปพร้อมๆ กับผู้กำกับที่จะกำกับอยู่ในคอล และที่สำคัญ เป็นตากล้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นกล้องที่อยู่บนคอม, มือถือ หรือแม้แต่กล้องที่ทีมงานส่งไปให้เพื่อถ่ายเอง

ความสนุกในข้อจำกัดมันเลยได้หลายๆ มุมใหม่ที่นักแสดงเองก็ไม่เคยทำ, ผู้กำกับเองก็ไม่เคยทำเช่นกัน และงานที่ออกมาก็เป็นงานที่มีมิติเพิ่มเข้ามาจากซีรีย์ปกติด้วย

#กักตัวStories มี 10 เรื่องด้วยกัน ฉายแบบ Premiere บน YouTube ครบไปแล้วทุกตอน ซึ่งตอนนี้เข้าไปชมกันได้ที่ Channel Nadao Bangkok

อีก 1 กิมมิกเล็กๆ ของเรื่องนี้คือ รายได้ที่เกิดจากการชมใน YouTube ตลอดโปรแกรมการฉายจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน จะนำไปให้กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ในบล็อกนี้ผมคงไม่แนะนำทั้ง 10 ตอน แต่จะเลือกเฉพาะตอนที่ผมชอบมา 3 ตอนครับ

เพราะเรารู้ว่าคุณจำเป็นต้องออกจากบ้าน ผู้กำกับ ปิง เกรียงไกร

ทำไมถึงชอบ – ด้วยความที่ผมค่อนข้างอ่อนไหวกับเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ เรื่องนี้เลยเข้ามาอยู่ในลิสต์ของผมทันที ในเรื่องคือตัวแทนการเล่าเรื่องของคนที่ต้องออกไปทำงานข้างนอกในสภาวะที่เสี่ยงกับการติดไวรัส และต้องถูกกักตัวให้อยู่ห่างจากแม่ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน สุดท้ายแล้วเพื่อนก็ได้ทำสิ่งที่มาช่วยให้สามารถอยู่ใกล้ชิดกันได้

Mother Distancing ผู้กำกับ อัด อวัช (วง Mint)

ทำไมถึงชอบ – เรื่องเกี่ยวกับแม่อีกแล้ว ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะชอบนอกจากพูดถึงเกี่ยวกับแม่ และบทสนทนาของพี่น้องที่พูดถึงแม่ที่เป็นหมอ แค่พิมพ์แล้วนึกถึงเรื่อง น้ำตาก็รื้นแล้ว…

What happened last night? ผู้กำกับ แคลร์ จิรัศยา

ทำไมถึงชอบ – ผมรู้สึกว่าเวลาที่ผู้กำกับผู้หญิง มาเล่าเรื่องหญิง มันมีอะไรที่เป็น Insight แฝงอยู่ตลอดเวลา และแน่นอนว่าเรื่องนี้ก็เช่นกัน เป็นเรื่องความรักระหว่าง หญิง-หญิง ที่มีเพื่อนเป็นหญิงแวดล้อมอยู่ ผมชอบฟังอะไรที่มันมี Insight เยอะๆ แบบนี้ เพราะมันจะทำให้เข้าใจความเป็นหญิงได้มากขึ้น (แม้ว่าจะไม่มีทางเข้าใจได้ 100% ก็ตาม)

ทั้งหมดก็เป็นสามเรื่องที่ผมชอบ ถ้าพูดรวมๆ ผมก็ชอบทั้งหมด เพราะทุก EP เป็นงานที่เกิดจากข้อจำกัดในการออกกองและถ่ายทำ มันเลยถูกสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

สุดท้าย ผมแนะนำให้ดูเบื้องหลังในการสร้างแต่ละ EP ด้วย เพราะผมชอบมากเวลาที่นักแสดงได้รู้ว่าทีมงานเบื้องหลังเขาต้องทำงานกันอย่างไร มันช่วยสร้างความเข้าใจในการทำงานในอนาคตได้ดีมากๆ ครับ

ลองดูกันนะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.