เมื่อ Work From Home ทำให้ต้องตามดูคอนเทนต์บน YouTube มากขึ้น

ใกล้หมดช่วง Work From Home ของผมแล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับคนอื่นๆ แล้วอาจจะยาวนานกว่าปกติ เพราะหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ขณะที่เขียนนี้ได้ประกาศให้ทำงานที่บ้านจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการประกาศตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ หรือผ่านไป 1 เดือนหลังจากเริ่ม Work From Home กันจริงจัง

ทั้งนี้ผมขออนุญาตไม่ย่อคำ Work From Home นะครับ เห็นคนอื่นย่อที่ไร จะอ่านเป็น WTF ซึ่งหมายถึง What The ฟั… ทุกทีไป

นอกจากพฤติกรรมการทำงานสำหรับผมที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเข้าขั้นซึมเศร้า เพราะไม่ได้เจอใครแบบจับต้องได้ เจอแค่บนหน้าจอและเสียงผ่านลำโพง ผมเลือกที่จะแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการบริโภคคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งปริมาณก็มากขึ้นตามไปด้วย

คอนเทนต์ที่ผมบริโภคในช่วงนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

  1. หนังสือ ที่ดองเค็ม(มาก) จากการซื้อในช่วงงานหนังสือออนไลน์
  2. รายการออนไลน์ต่างๆ จาก Content Creator ที่อาจจะถือว่าเป็นหนึ่งใน User Generated Content
  3. หนัง, ซีรีส์ เช่น การดู One Year รอบที่ 10 กว่าๆ (อุ่ย)

หลักๆ ขอพูดถึงข้อ 2 เป็นหลักนะครับ เพราะถ้าเทียบเป็นสัดส่วนแล้วถือว่าสูงมากๆ และดูความเปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่จริงๆ แล้วมันก็มีความคาบเกี่ยวระหว่าง UGC และเป็น Content ที่เกิดจาก Creator จนกลายเป็นทำกันแบบจริงจัง

ผมเคยเขียนบทความไว้บน Thumbsup อธิบายเกี่ยวกับ User Generated Content ไว้แล้ว ลองอ่านกันได้นะครับ https://www.thumbsup.in.th/user-generated-content

ขอย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2019 ผมได้ทำการซื้อทีวีเครื่องใหม่ ที่เป็น Smart TV สามารถดูรายการบนอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งก็เริ่มทำให้เทรนด์การเสพคอนเทนต์เปลี่ยนไปเล็กๆ และเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเป็นช่วงทำงานที่บ้านมากขึ้น

แต่ไม่ใช่ว่าจะเอาเวลางานมาดูคอนเทนต์นะครับ แค่เอาเวลาที่ต้องเสียไปจากการเดินทางมาดูได้มากขึ้นและดูเยอะขึ้นกว่าเดิม ฮ่าๆ

จากเดิมที่ไม่ค่อยจะกด subscribe channel ต่างๆ ผมก็กดมากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะปริมาณคอนเทนต์มันมีให้เลือกดูเยอะขึ้น จากก่อนหน้าที่ผมดูแค่ รายการ จันทร์ Shock โลก และดู music video แค่นั้น

สิ่งที่ตามมาคือ ผมดูคอนเทนต์ที่เริ่มเจาะช่องมากขึ้น ซึ่งช่องที่ผมดูเป็นหลักก็คือ

เหตุผลหลักที่ดู 3 ช่องนี้เป็นหลักก็คงเป็นเพราะอยากดูความ Creative ในการสร้างและคิดรายการ รวมทั้งเนื้อหาด้วย ซึ่งเดี๋ยวจะขอพูดถึงอีกทีนะครับ

พอเริ่มต้นตามดูสามช่องนี้ ก็เริ่มติดรายการต่างๆ ในนี้ ซึ่งโดยโครงสร้างของ Channel แล้ว โคตรคูล จะมีการวางผังรายการที่ชัดเจนและแน่นอนกว่าช่องของทางฝั่งเสือร้องไห้ แต่ถ้าเทียบด้วยความถี่ในการออกคลิปถือว่าสูสีกันมากๆ

วิกฤติ Work From Home กับการทำคอนเทนต์ในช่องต่างๆ

จากรายการและเนื้อหาของช่องต่างๆ ซึ่งปกติแล้วจะต้องถ่ายทำนอกสถานที่ กลายเป็นถูกจำกัดด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้ช่องต่างๆ ต้องปวดหัวหนักในการทำคอนเทนต์ในภาวะที่ไม่ปกติ Producer, Creative ของรายการต้องรีดความคิดจากข้อจำกัดเพื่อสร้างที่อาจจะเรียกว่าเข็นคอนเทนต์ออกมาเพื่อหล่อเลี้ยงช่อง รวมไปถึงต้องคิดคอนเทนต์สำหรับโฆษณาในช่องนั้นด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า YouTuber ที่ทำ Channel รายได้ส่วนใหญ่เกิดจากสปอนเซอร์สินค้าที่จ้างมาเป็นส่วนหนึ่งในคลิปนั่นเอง

คลิปเสือร้องไห้เที่ยวญี่ปุ่นแบบ virtual ใช้รูปแบบการประชุม Zoom และปรับรูปแบบในการนำเสนอให้น่าสนใจ https://www.youtube.com/watch?v=xukagHoZzYI

ในช่วงแรกๆ เราจะเห็นวิธีการสร้างสรรค์คอนเทนต์ด้วยการใช้ทีมงานที่ไม่ต้องรวมตัวกันเยอะ เช่น การทำเหมือนการประชุม Zoom, การตั้งกล้องคนเดียวแล้วเรียบเรียงคอนเทนต์ผ่านการ Post-Production รวมถึงใช้วิธีการเล่าเล็กๆ น้อยๆ แล้วบิดไปตบเข้าสปอนเซอร์แบบฉลาด

ในฐานะที่เราติดตามคอนเทนต์เราก็ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์จากการถูกบีบด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่ยังคงทำคอนเทนต์บิดออกมาได้อย่างสนุกและยังน่าติดตามอยู่

คลิปส่งข้าวให้น้องในบริษัทที่มีสปอนเซอร์เข้า https://www.youtube.com/watch?v=cg_vk81FzQQ

นอกจากรายการเดิมที่มีอยู่แล้ว จากข้อจำกัดก็มีรายการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา ที่ผมชอบมากคือจากฝั่งช่องโคตรคูล ที่เข็น 3 รายการใหม่ออกมา 1.Office Makeover แปลงโฉมพนักงานให้สวยขึ้น (ณ ที่เขียนอยู่มี ep เดียว), 2.ปล่อยจอย รายการเล่นเกม ตัดไฮไลท์เด็ดๆ ออกมา และ 3. Diary ถ่ายไม่เลิก เป็น One Day With กับโอ๊ค ปราโมทย์ ตั้งกล้องถ่ายเองเป็นส่วนใหญ่ บางชอตมีผสมทีมงานตั้งกล้องบ้างแต่ส่วนน้อย

ซึ่ง 3 รายการที่ออกมาใหม่นี้มาจากข้อจำกัดที่ทำให้รายการในโปรแกรมปกตินั้นถ่ายไม่ได้ เลยทำให้ต้องมีรายการใหม่ออกมาเพื่อทดแทน ซึ่งต้องยอมรับว่าทางโคตรคูล ทำส่วนนี้ได้ดีมากและช่วยให้มีคอนเทนต์หล่อเลี้ยงได้จนสถานการณ์โควิดดีขึ้น

ขอพูดถึงฝั่งเสือร้องไห้และ GoodDay บ้าง เดี๋ยวจะน้อยใจไป ถ้ามองดูผ่านๆ แล้วรายการอาจจะเหมือนว่าน้อย แต่ถ้าดูจริงๆ แล้ว ใน GoodDayOfficial นั้นมีรายการฝังอยู่ในนี้เยอะมาก และปี 2020 มีรายการที่พร้อมจะปล่อยออกในช่องเยอะมาก ซึ่งพอมาเจอสถานการณ์โควิดแล้วทุกอย่างก็ต้องชะลอออกไป แต่ตอนนี้เริ่มกลับมา Run แบบเต็มสูบมากขึ้น

Playlist รายการของ GoodDayOfficial ที่เริ่มทยอย Active หลังโควิดดีขึ้น

รายการที่น่าสนใจสำหรับผมทางฝั่ง GoodDayOfficial คือ G Music ที่ดึง VJ จ๋า และ VJ วุ้นเส้น คืนสังเวียนกลับมาทำรายการเพลงอีกครั้ง รวมไปถึง รวมกันเฉพาะกิจ และ แรปชมสิ่งที่น่าสนใจ ที่เริ่ม EP1 ไปแล้วทั้งคู่

Channel สาขาย่อยที่ยังไม่จบ

ทั้งคู่มีช่องย่อยแตกสาขาลงไปอีก ฝั่งโคตรคูลก็มี Khot Kool Music ที่จะเอามา support ผลงานเพลงให้ชัดเจนมากขึ้น หรือฝั่ง GoodDayOfficial ที่มีรายการ เกษียณสำราญ Happy Retired แยกออกมา

ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอนาคตน่าจะมีการแยก Channel ตามรายการ ตามกลุ่มให้ชัดเจนขึ้น แต่ตอนนี้รวมกันเพื่อจำนวน subscriber อาจจะเป็นวิธีที่จะทำให้ทีมขาย ขายได้ง่ายกว่าจากความเป็นไปได้ของยอดการวิวจะสูงกว่าการแยกช่องในตอนนี้

ทำไมถึงสนใจดู และอะไรที่น่าสนใจ

ด้วยความที่ผมดูรายการนี้แทบจะทุกวันและทุกคลิป รวมไปถึงดูย้อนหลังแทบทุกคลิปลงลึกในระดับปี เลยเห็นรูปแบบเล็กๆ ที่คงบอกไม่ได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จในการทำช่อง YouTube ที่ผมติดตาม

ทั้งนี้ผมต้องขอตัดเรื่องการใช้คำหยาบ, คำไม่สุภาพ ออกไป เพราะมีคนเอาเรื่องนี้ตัดสินกันด้วยตั้งแต่แรกนะครับ

  • กล้าฉีกหัวข้อการพูด เนื่องจากรายการบน YouTube มีเยอะมากขึ้น รวมไปถึงคนทั่วๆ ไปก็มาเปิดช่องมากขึ้น ดังนั้นการเลือกหัวข้อมาตั้งต้นในการเปิดช่องจึงสำคัญแทบจะที่สุด เช่น เรื่องความรักหรือคนรัก ทำยังไงถึงจะดึงดูดคนมาดู โดยที่ไม่ใช่เป็นแบบละคร Club Friday เราเลยได้เห็นรายการอย่าง จีบหนูหน่อย หนูอ่อยไม่เป็น
  • กลุ่มเป้าหมายชัดเจนในแต่ละรายการ จริงอยู่ที่การทำช่อง 1 ช่อง หรือรายการ 1 รายการจะพยายามต้อนคนหมู่มากให้เข้ามา แต่จริงๆ แล้วจะมีกลุ่มหลักที่ต้องการจริงๆ ดังนั้น การทำต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งไปถึงกลุ่มเป้าหมาย และพอทำเรื่อยๆ ก็จะเริ่มเห็นแนวทางหรือกลุ่มคนที่สนใจเรามากขึ้น ทั้งนี้อยู่ที่การดูข้อมูลหลังบ้าน เพื่อเอามาปรับปรุงและต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ๆ ได้
  • ฉีกรูปแบบการนำเสนอ และยังคงความเอกลักษณ์ นอกจากหัวข้อจะต้องฉีกแล้ว ยังต้องคิดถึงวิธีการนำเสนอ เป็นเรื่องความ Creative ของคนทำและทีมงานในการจะดึงความน่าสนใจของหัวข้อออกมาพูด เช่น เราสนใจกล่องสุ่มเหมือนกับช่องคุณส้ม เราอยากลองทำบ้าง แต่เราก็จะเห็นว่าตอนนี้หลายๆ ช่องเปิดกล่องสุ่ม เราจะทำยังไงให้เราเปิดกล่องสุ่มเหมือนกัน โดยที่มีความแตกต่าง ทั้งนี้อยู่ที่การตีโจทย์หัวข้อเป็นมุมใหม่และเพิ่มรูปแบบการนำเสนอในแบบที่เป็นเรา
  • อีกส่วนนึงที่คงไม่พูดไม่ได้คือทักษะและความสามารถของคนที่จะดำเนินรายการ เช่น เราจะเห็นคนแคสเกมมีอยู่เยอะแยะ แต่ทำไมช่องนั้นๆ ถึงมีคนติดตามเยอะ ส่วนนึงก็เพราะความต่างในวิธีการในการเล่า ทั้งน้ำเสียง วิธีการใช้คำ การ interact กับสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัย
  • สนุกอย่างสม่ำเสมอ ผมมักจำคำพูดไว้ตลอดว่า “Content Marketing is a Marathon” การเป็น Content Creator หรือสร้างคอนเทนต์หากคุณต้องการประสบความสำเร็จ ปัจจัยหลักคือต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเราก็จะเห็นว่า ช่องที่เริ่มทำรายการแบบจริงจังจะมีตารางลงคลิปที่แน่นอน เพื่ออย่างน้อยจะมี Commitment ให้กับคนที่ติดตาม รวมไปถึง เราก็มีคลิปที่มีโอกาสจะถูกค้นหาเจอด้วย
  • รวดเร็วบ้างในบางครั้ง ผมเอาเรื่องนี้มาเป็นข้อสุดท้าย เพราะยังไงก็ตาม การเกาะกระแสก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ “บ้าง” ในบางจังหวะ ด้วยกระแสที่มาในบางหัวข้อก็อาจจะหยิบมาทำได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าถ้ามันมาเร็ว มันก็ไปเร็วเช่นกัน

ช่องอื่นๆ ที่ก็ดูเหมือนกัน

ไม่ใช่แค่สองค่าย YouTuber ใหญ่นี้ที่ผมดูเท่านั้น ยังมีช่องอื่นๆ ที่ผมดู มีทั้งกด sub ไม่กด sub แต่ content ก็จะเด้งขึ้นให้เลือกประจำ อาทิเช่น

  • Soloist Channel ช่องของคุณว่าน ธนกฤต รายการที่ผมดูประจำคือ ประชาชื่น และ เลขาแคม มันดูง่ายแบบมีชั้นเชิงด้วยวิธีการเล่าและเรื่องที่เล่า
  • Zommarie ช่องคุณส้มมารี ช่องที่ผมยกให้เป็นเจ้าแม่กล่องสุ่ม
  • Heartrocker ช่องเกมอันดับ 1 ในใจคนชม ช่องนี้น้องที่เคยทำเอเยนซี่ด้วยกันแนะนำมา
  • Kayavine ช่องนี้ผมไม่ได้กด Sub แต่เป็นช่องที่ดูบ่อยๆ ชอบดูเปิดกล่องสุ่มรวยๆ ที่ผมไม่อาจเอื้อม (กล่องสุ่มแบรนด์เนมหลักแสนหลักล้านแบบนี้)
  • Spirit Channel ช่องนี้ติดตามจากการเปิดรูป เปิดที่รองแก้ว BNK ตอนนี้ผมกลายเป็นลูกค้ากันดั้มไปแล้ว
  • พ่อบ้าน Station ตามมาจากช่องก่อนหน้านี้ เพราะคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะเป็น BNK และลามไปจักรวาลไอดอลอื่นๆ แล้วเรียบร้อย
  • Bie The Ska และ The Snack ช่องที่ไม่เคยคิดจะดูเลย แต่หลังๆ มาดูเยอะขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการดูคอนเทนต์ BNK นั่นเอง

ท้ายบท

บอกตามตรงไม่คิดว่าจะเขียนยาวขนาดนี้ แต่สิ่งที่ดลใจอยากให้เขียนก็คือ ผมชอบและเคารพความเป็น Creator ของช่องต่างๆ ทุกคนครับ ผมชอบความคิดสร้างสรรค์ ความสนุก ที่เกิดจากความคิดของทีมงานที่ทำออกมา สิ่งที่ทำออกมา ขอให้รู้ว่า มีคนติดตามและรอติดตามอยู่ครับ

และขอสารภาพตอนท้ายบทว่า การดูคอนเทนต์มากๆ ทำให้ผมมีความคิดอยากจะไปสมัครงานทำงานที่โคตรคูลและ GoodDay จริงๆ จังๆ เพราะความคิดมันได้ทำงานตลอดเวลา (ถ้ามีโอกาสได้ทำจริงๆ ความคิดผมอาจจะเปลี่ยนก็ได้ แต่ถ้าได้ One Day With ก็คงดีครับ)

จริงๆ มีอีกเรื่องคือการมาของ TikTok ที่ทำให้ UGC ปั่นป่วนมากๆ ในช่วงที่ทุกคนเหงา ไว้ขอยกยอดไว้เขียนในโอกาสถัดๆ ไปครับ

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.