สัปดาห์ก่อนไปอ่านเจอเพจชื่อว่า Bright and Breezy ซึ่งเป็นของน้องเมย์ สาวจอมพลังและเป็นน้องที่รู้จักในวงกระเป๋า Freitag (ตั้งแต่ยังไม่เกร่อเมืองเท่ายุคนี้) แชร์วิธีการทำงานของน้องซึ่งเหมาะกับช่วง Work From Hell เอ้ย Work From Home มาก และทำตามได้ไม่ยาก เลยอยากมาเขียนถึงและแชร์ประสบการณ์หลังได้ลองทำ Pomodoro มาประมาณ 1 สัปดาห์กว่าๆ มาให้อ่านกันครับ
โพสต์ที่ว่าก็คือโพสต์นี้เลยครับ
แล้ว Pomodoro คืออะไร?
- Pomodoro Technique คือเทคนิคการจัดการเวลาที่คิดค้นขึ้นโดย Francesco Cirillo เมื่อปี 1980
- Pomodoro มาจากภาษาอิตาลี แปลว่า มะเขือเทศ
- ที่เรียกชื่อนี้เพราะว่าตอนที่ Francesco เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย นาฬิกาจับเวลาของ เขาเป็นรูปมะเขือเทศ (ข้อมูลจาก wikipedia)
- Pomodoro ถูกเรียกเป็นหน่วยของ 1 ช่วงเวลา ซึ่งเท่ากับ 25 นาที
หลักก็คือ วางแผน-ตั้งเวลา-ทำงาน-เบรค-ลูปครบ 4-เบรคยาว-เริ่มทำใหม่
หรือทำครบ 100 นาที พักยาว 1 ที
เพราะตัวผมเองเป็นคนที่ “โคตร” ไม่มีสมาธิ มีความวอกแวกสูงมาก อะไรที่รบกวนได้แค่ไม่กี่วินาทีผมก็หลุดโฟกัสแล้วชอบเตลิดไปเรื่อย โดยเฉพาะพวกข้อความเตือนทั้งหลาย ผมแทบทนไม่ได้ที่พอได้รับมันก็ต้องเชคตลอดแทบทุกที เลยเป็นสาเหตุให้ช่วงนึงดัดนิสัยด้วยการลบ Facebook ออก ซึ่งมันก็ได้ผลนะ
อ่านบล็อก ลองลบ FACEBOOK APP จากมือถือ (แต่ ACCOUNT ยังอยู่นะ)
และจากที่ได้อ่านโพสต์ของน้องเมย์ก็เลยเห็นว่ามันน่าลองทำดูเป็นการทดลองตัวเอง ด้วยความที่ตัวเองมีงานนิดๆ หน่อยๆ ที่ยังต้องทำอยู่ แต่ก็ต้องการใช้สมาธิอย่างมากเพื่อทำให้งานรอดออกมาเป็นชิ้นและส่งได้ทันเวลาตามกำหนด
ด้วยขั้นตอนทั้ง 5 จริงๆ ผมทำแบบ shortcut เพราะอยากจะรู้ว่าเป็นยังไงแบบเร็วๆ เลยเตรียมตัวแบบง่ายๆ นั่นก็คือ ดาวน์โหลดแอปจับเวลาสำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมันมีแอปหลากหลายมาก ผมเอาอันที่ผมใช้อยู่ทิ้งลิงก์ไว้ข้างล่างแล้วกันนะครับ
ขั้นตอนของผม
- ตั้งเป้าหมายไว้ก่อนว่าวันนี้ต้องทำอะไร ทำอะไรให้เสร็จหรือให้มี Progress ประมาณเท่าไหร่
- โหลดแอป ส่วนใหญ่ผมจะใช้การจับเวลาบนมือถือมากกว่าบน Mac ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าอยากจะตัดขาดก็ควรอยู่บนคอมให้หมด เพื่อให้สิ่งเร้าไม่ต้องมากระตุ้นเรา
- เปิดแอปจับเวลา แล้วทำงานซะ เมื่อถึงเวลาก็เบรค
- ลูป
ความรู้สึกที่ได้ลองดู
จริงๆ แล้วมันคือหลักการ Time-Blocking นั่นแหละ และด้วยความที่ Time-Blocking มันเป็นชิ้นเล็กมาก คือ session ละ 25 นาที ทำให้รู้สึกว่าเราทำตามง่ายและมันเห็น progress ของเราทั้งในแง่ของ output ของงาน และการโฟกัสของเรา ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าปกติแล้ว ผมหลุดบ่อยมาก คราวนี้หลุดน้อยลงกว่าเดิมเยอะ และยังรู้สึกว่า เอ้อ เราอยากจะต่อเวลาให้มันมากกว่า 25 นาที
ซึ่งจริงๆ แล้วต่อได้นะ แต่ถ้าอยากให้รู้สึกว่ามันเป็น Block จริงๆ ครบ 25 ก็ต้องหยุดพักจริงๆ แต่ส่วนใหญ่ผมก็เกินแหละ เพราะมันมีบางจังหวะที่มันกดติดสูตรแล้วมันต้องทำต่อ เลยต้องทำให้มันจบช่วงนั้น แต่ก็บวกไปไม่เกิน 5 นาที
แล้วเวลาเบรค ผมไปทำอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่ผมก็เอาไปเข้าส้วม, เดินออกนอกห้อง หรือแม้กระทั้งเอาไปซักผ้า ตากผ้า ทุกอย่างเพื่อให้รู้สึกว่าเราได้ยืนและขยับอวัยวะส่วนอื่นๆ ด้วย ไม่อย่างนั้นมันจะอยู่ในท่าที่นั่งเดิมๆ ตลอด
ตอนนี้ยังทำอยู่ไหม
ผมก็ยังทำอยู่บ้างในบางโอกาสนะ โดยเฉพาะงานที่ผมทำนิดๆ หน่อยๆ ตอนนี้ส่วนใหญ่ 90% อยู่ที่บ้าน และมันต้องใช้สมาธิค่อนข้างเยอะ ดังนั้นวิธีนี้เลยยังถูกหยิบมาใช้อยู่
ที่เขียนบล็อกอยู่นี่ก็ใช้อยู่นะ หมดไปประมาณ 2 Time-Block
การดัดแปลงและการปรับเวลา
จากที่ลองอ่านๆ ดู ก็พบว่าเมื่อเราทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเริ่มปรับช่วงเวลาให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ หรือการทำงานของเราเอง เพราะไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องกำหนดช่วงเวลาเป็น 25 นาที อาจเป็น 30 นาที 45 นาที หรือชั่วโมงนึงก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องมีเวลาพักเสมอ
ถือเป็นการแชร์ประสบการณ์ของผมก็แล้วกันนะครับ ยังไงก็ลองไปทำตามกันดูได้ผลยังไงก็มาบอกด้วยแล้วกันนะ
อันนี้เป็นเว็บอย่างเป็นทางการ https://pomodoro.francescocirillo.com/