ช่วงปีหลังๆ โดยเฉพาะช่วงก้าวข้ามผ่านจากเลข 3 สู่เลข 4 ผมเข้าใจคำว่า “ใจเขาใจเรา” มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเป็นกูรูไปสอนหรือไปเป็นไลฟ์โค้ช เพราะลำพังแค่เอาตัวเองยังไม่ค่อยจะรอดเท่าไหร่ ซึ่งพอมองกลับไปช่วงตัวเองที่ทำงานเลขสองปลายยันเลขสามก็พบว่าเรามันโคตรแย่เลยจริงๆ
ที่มาที่ไปที่กลับมานึกถึงเรื่องนี้เพราะว่าสัปดาห์ก่อนที่จะมาเขียนบล็อกนี้ ผมก็ไถทวีตที่ตอนนี้เป็นชื่อ X ไปแล้วตามปกติของผม แล้วผมก็เจอข้อความนึงของน้องอุ้ม สมาชิกวงไอดอล Sumomo เขียนไว้ตามนี้
มันก็ย้อนกลับมานึกเรื่องของตัวเองในทันที เพราะอย่างที่ผมเกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ต้นบล็อกว่า ผมเองมองตัวเองค่อนข้างแย่ในเรื่องนี้ และถ้ากลับไปแก้ไขตัวเองในตอนนั้นได้ก็คงไม่พูดหรือไม่พิมพ์อะไรที่ทำให้ส่งผลกระทบทางจิตใจแบบนั้นแน่ๆ
การพิมพ์ข้อความ (โดยเฉพาะ Chat, Twitter) สำหรับผมคือการสื่อสารที่อันตรายมาก เพราะมันคือการนำส่งสารไปยังผู้รับ โดยที่ผู้ส่งและผู้รับอาจจะมีอารมณ์ ณ เวลานั้นที่ไม่เท่ากัน และอาจะทำให้ความตั้งใจของสารที่ต้องการนำส่งถูกบิดเบี้ยวไป ทั้งที่ผู้ส่งสารอาจจะเจตนาดีก็เป็นได้(มั้งนะ) ซึ่งผมชอบบอกกับคนที่ผมรู้จักว่าเวลาพิมพ์นี่คิดเยอะๆ หน่อยว่าความหมายที่เราต้องการจะสื่อมันเป็นยังไง แล้วอ่านแล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ ใช่ไหม ก่อนจะลั่นส่งออกไป
ที่จริงแล้วมันก็มีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้การสื่อความมันบิดเบี้ยวไป ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ในตอนนั้น ความสนิทของผู้รับและส่งสาร คำที่เลือกใช้ ฯลฯ ที่ไม่ใช่แค่คนที่รับสารอาจจะเข้าใจผิดหรือตีเจตนาผิด แต่สามารถทำให้คนที่เข้ามาอ่านหรือมาได้เห็นอาจจะถูกเข้าใจผิดไปได้ด้วยเช่นกัน
เครียดจังผม 555
อาจจะเพราะผมเคยโดนเคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนหน้านี้ เลยทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าเรามีโอกาสหรือหาจังหวะที่จะบอกจะเตือนคนที่ต้องเป็นคนส่งสารว่า เราอ่านแล้วเรารู้สึกอย่างนี้นะ แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นคนรับสารนั้นตรงๆ แต่เราอยากบอกมุมอีกมุมนึง
มันมีคำนึงของพี่แอน @iannnnn เคยใช้เป็น Bio ใน Twitter (มั้ง)ว่า “ความจริงมีเพียง 2 อย่าง คือ จริงของมึง และจริงของกู” (ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพครับ) ซึ่งมันก็เป็น Fact หรือความจริงจริงๆ ที่เป็น ดังนั้นความจริงของเรา อาจจะเป็นเท็จสำหรับเขาก็เป็นได้ด้วยชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน ดังนั้นมันเลยมีเรื่องการคิดถึงความหมายให้มากขึ้น
สำหรับผม ผมก็เอาเรื่องนี้มาคิดด้วยว่าในมุมที่เรามองว่าจริง มันอาจจะไม่จริงสำหรับอีกคนก็ได้ ดังนั้นมันเลยเป็นช่องว่างที่ทำให้เราต้องมาทำความเข้าใจกันมากขึ้น มันอาจจะไม่ต้องเข้าใจแบบ 100% แต่แค่คิดเผื่อทิ้งไว้นิดนึงว่าเขาจะเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสารตามที่เราต้องการได้จริง
นั่นแหละครับที่ผมจะรู้สึกว่าตัวอักษรมันชวนให้เข้าใจเจตนาที่ดีกลายเป็นร้ายได้อย่างง่ายดาย แถมยังมีโซเชียลที่เป็นตัวเร่งทำให้เจตนาที่เกิดมันแพร่หลายไปได้ไกลอย่างรวดเร็วถ้าจุดติดจากคนบางกลุ่ม
การลองสวมหมวก (ผมเคยเขียนไว้แล้วที่นี่ สวมหมวกหลายใบ ดีกว่าใส่ใบเดียวใบเดิม) อาจจะเป็นสิ่งนึงที่ช่วยได้ว่าถ้าเราเป็นคนได้เห็นข้อความนี้เราจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งผมจะใช้วิธีนี้อยู่เสมอ
ดังนั้นในช่วงหลังๆ ผมเลยรู้สึกว่าการพูดคุยแค่อย่างน้อยได้ยินเสียง มันช่วยลดเรื่องนี้ไปได้ แต่ก็เป็นกรณีที่เราเจอกันหรือรู้จักกันแล้วบ้าง แต่ถ้าไม่รู้จักเลย การพิมพ์มันก็เป็นสิ่งที่จะสื่อสาร ซึ่งมันไม่ได้ผิดอะไร แค่เราต้องระวังให้มากขึ้น และถ้ามันผิดพลาดจริงก็ต้องขอโทษให้เป็น
ยิ่งได้เจอหน้ากันแล้วพูดก็ยิ่งดี ยิ่งลดปัญหานี้ไปได้มาก แต่ก็ต้องไม่ลืมนึกถึงปัจจัยของคนหลายๆ คนที่เวลาพูดกับเวลาพิมพ์จะเป็นคนละคนกัน
สุดท้ายและบล็อกนี้ก็อาจเอาไปตีความหมายหรือเจตนาเป็นอย่างอื่นก็เป็นได้ เพราะทั้งหมดอยู่ที่คนอ่านล้วนๆ เลยครับ
ปิดบล็อกนี้ผมคงต้องปิดในแบบที่น้องอุ้มทวีตไว้ว่า
“จะพิมพ์อะไร ก็นึกถึงใจคนอ่านด้วยนิดนึงนะครับ”